เมื่อเข้าสู่วัย 2 ปี คือช่วงเวลาที่เด็กได้เติบโตจากวัยทารก และเข้าสู่การเป็นเด็กวัยเตาะแตะอย่างเต็มตัว ในช่วงวัยนี้เด็กจะมีพัฒนาการและการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าขึ้นจากเดิมมาก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่คุณแม่ต้องรับมือและส่งเสริมพัฒนาการของเขา เพราะลูกจะเริ่มสนใจและมีความอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัวมากขึ้น จะทำให้คุณแม่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษกว่าเดิม

พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กวัย 2 ขวบ

ด้านร่างกาย
เด็กวัยนี้จะเริ่มฝึกทักษะทางกายภาพแบบจริงจังขึ้น โดยพวกเขาควรจะเริ่มฝึกวิ่ง ขึ้นและลงบันไดได้เอง เตะหรือโยนและรับลูกฟุตบอล และเดินแบบเขย่งเท้าได้ หรืออาจจะฝึกปีนป่าย แต่ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของคุณแม่และต้องมั่นใจว่าตรงจุดที่ลูกปีนจะปลอดภัย ช่วงนี้เขาจะพยายามเรียนรู้ที่จะทำอะไรมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีความกังวล แต่อย่าไปหยุดการเรียนรู้ของเขาเลยนะคะ แค่พยายามเฝ้าดูอย่าให้เกิดอุบัติเหตุเท่านั้นก็พอแล้ว

ด้านสังคม
ช่วงอายุ 2 ขวบคือวัยที่เพิ่งเริ่มต้นรู้จักสังคม พวกเขาอาจจะสนใจในสิ่งที่เด็กคนอื่นๆ ทำ หรืออาจจะรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้อยู่รายล้อมกับเด็กคนอื่น ฉะนั้นคุณแม่ควรพาเขาออกไปเจอเด็กคนอื่นๆ นอกบ้าน แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าคุณลูกต้องไปเล่นกับเพื่อนๆ ให้ได้ในวัยนี้นะคะ ควรปล่อยให้เขาเรียนรู้และทำตามใจตัวเอง อย่าเพิ่งไปบังคับเขาจนเกินไป แต่ถ้าเขาเล่นซนวุ่นวายจนเกินไป ก็ต้องรีบสอนว่าแบบไหนควรทำแบบไหนไม่ควรทำ

ด้านการสื่อสาร
ควรฝึกให้เขาพูดได้อย่างน้อย 50 คำโดยประมาณ หรือฝึกให้เขาพูดสัก 2-3 คำแต่เป็นประโยค วิธีนี้จะทำให้เขาพูดได้เก่งและไม่ต้องฝึกมากเมื่อเข้าสู่วัย 3 ขวบ และไม่ควรพูดคำที่ไม่ดีออกมา เพราะเด็กวัยนี้กำลังชอบเลียนแบบคำพูด

ด้านกระบวนการคิด
เด็กวัยนี้จะเริ่มรู้จักอารมณ์โกรธ โมโห และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา โดยอาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจ ความผิดหวัง หรืออาจเกิดจากการง่วงนอน เบื่อ หรือเหงา แต่ไม่สามารถบอกออกมาเป็นคำพูดให้เข้าใจได้ ฉะนั้นคุณแม่ควรให้เวลาเขาได้ฝึกให้เขารู้จักรอในสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ออกอาการโมโหเกรี้ยวกราดก่อน พอเขาเริ่มรู้และทำตามแล้วจึงค่อยพาออกไปในที่สาธารณะได้ นอกจากนี้แล้วคุณแม่ควรสอนให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เบื้องต้นให้เขาด้วย เช่น การวางรองเท้าให้เข้าที่ หรือหยิบของตามสีต่าง ๆ ที่สอน


พัฒนาการและวิธีการตุ้นพัฒนาการ การเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะสม

พัฒนาการตามเกณฑ์
การเคลื่อนไหว: เหวี่ยงขาเตะลูกบอลได้ กระโดดเท้าพ้นพื้นทั้ง 2 ข้าง
การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา: ต่อก้อนไม้ได้ 4 ชั้น เลียนแบบการวาดรูป
การเข้าใจภาษา: นำวัตถุ 2 ชนิดที่อยู่ในห้องมาให้ได้ตามคำสั่ง
การใช้ภาษา: พูดตอบรับและปฏิเสธได้ พูดเป็นประโยค 3 คำได้
การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น: ล้างและเช็ดมือเองได้ ใส่กางเกงได้ด้วยตัวเอง

วิธีกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้
ให้ลูกมีโอกาสยืนด้วยตัวเอง
ให้ลูกเล่นของเล่นที่ต้องลากดึง
พูดคุยชี้บอกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ให้ลูกตักอาหารรับประทานด้วยตัวเอง
พาลูกเดินเล่นในสนามหญ้า สนามเด็กเล่น
เลือกของเล่นที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม เน้นเรื่องของสี และรูปทรง
เริ่มฝึกขับถ่ายให้เป็นที่
ฝึกให้ลูกเริ่มเรียนรู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ โดยชี้แนะและให้ลูกมีทางเลือกเองบ้าง

แม้ในช่วงเวลาของวัย 2 ขวบ จะมีพัฒนาการต่างๆ มากมายรอให้ลูกเรียนรู้อยู่ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกดดันลูก จนเกินไป ให้เวลาลูกค่อยๆ ได้เรียนรู้ ได้มีพัฒนาการที่ดีตามวัยด้วยตัวเอง และเฝ้าดูพัฒนาการของเขาให้เติบโตอย่างมีความสุข

 

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กได้ที่  loripavdue.com